วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง ท่วงทำนองของบทเพลงลอยกระทงเป็นที่รู้จักของคนไทยทุกคนรวมไปถึงชาวต่างชาติที่หลงใหลในประเพณีและวัฒนธรรมของไทยวันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพี่น้องชาวไทย ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา จะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกภาคทั่วประเทศ ที่ติดอันดับต้นของประเทศไทยเห็นจะเป็นที่สุโขทัย และเชียงใหม่ รวมถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่น้อยของประเทศไทย
ที่เชียงใหม่เรียกเทศกาลลอยกระทง ว่า ประเพณียี่เป็ง คำว่า ยี่เป็ง เป็นภาษาคำเมืองล้านนาภาคเหนือ โดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วนคำว่า เป็งนั้นมีความหมายตรงกับคำว่า เพ็ญ หรือวันพระจันทร์เต็ม ดวง โดยชาวไทยล้านนาภาคเหนือนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าคนไทยภาคกลาง ๒ เดือน ทำให้เดือนสิบสองของไทยภาคกลางตรงกับเดือนยี่ ของคนล้านนา หรือวันเพ็ญเดือนสิบสองตามปฏิทินพุทธศาสนาของประเทศไทย จากหลายตำนานเล่าขานสอดคล้องกันถึงที่มาของประเพณียี่เป็ง ไว้ว่าราว พ.ศ. ๑๔๙๐ ในสมัย พระยาจุเลราช ครองราชสมบัติในนครหริภุญชัย เกิดโรคระบาด ขึ้น มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองที่รอดพ้นภัยจากโรคร้ายพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในเมืองสุธรรมวดี หรือเมืองสะเทิม แห่งอาณาจักรรามัญ หรืออาณาจักรมอญ ต่อมา พระเจ้าพุกาม กษัตริย์พม่าตีได้เมืองสะเทิม กวาดต้อนลูกหลานที่เป็นผู้หญิงของชาวเมืองไปเป็นจำนวนมากแต่เมื่อเบื่อหน่ายก็ทอดทิ้งไม่ชุบเลี้ยงเหมือนเก่า พวกชาวเมืองหริภุญชัยจึงได้อพยพหนีไปอาศัยอยู่กับ พระเจ้าหงสาวดี ซึ่งได้รับการชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี หลังจากที่อาศัยอยู่ไม่นาน ชาวเมืองได้ทราบข่าวว่าโรคระบาดทางนครหริภุญชัยสงบแล้ว ก็คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองก็พากันกลับมายังนครหริภุญชัยอีกครั้ง
เมื่อถึงเดือนยี่เป็ง ชาวเมืองที่จากญาติมาคิดถึงพี่น้องที่จากกันมาจากเมืองหงสา จึงพร้อมใจกันจัดแต่งธูปเทียน เครื่องสักการบูชา วัตถุข้าวของ ใส่ในกระถางไหลล่องลอยตามแม่น้ำเพื่อเป็นการระลึกนึกถึงญาติพี่น้อง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะลอยตามน้ำไปถึงญาติที่อยู่ในเมืองหงสา อันไกลโพ้น และเรียกการลอยกระทงนี้ว่า การลอยโขมด หรือ ลอยไฟ ส่วนเหตุที่เรียกว่า ลอยโขมด นั้น คำว่า โขมด เป็นชื่อผีป่าเรียกกันว่าผีโขมด ชอบออกหากินเวลากลางคืน จะมีพะ เนียงแสงไฟ เห็นเป็นระยะคล้ายผีกระสือ ดังนั้น กระทงที่จุดเทียนลอยน้ำแสงไฟจะกระทบกับน้ำทำให้เงาเกิดขึ้นสะท้อนวับ ๆ แวม ๆ จะเหมือนแสงไฟของผีโขมด ดังนั้นทางล้านนาโบราณ จึงเรียกการลอยกระทงว่า ลอยโขมด นั่นเองนี่คือที่มาจากการบันทึกประเพณีและวัฒนธรรมของล้านนาถึงที่มาของประเพณียี่เป็งเชียงใหม่
จากอดีตสู่ปัจจุบันชาวเชียงใหม่และชาวล้านนาทางภาคเหนือยังคงสืบทอดรักษาประเพณีนี้มาอย่างยาวนานแต่วัตถุประสงค์ของการนำกระทงมาลอยในสายน้ำอาจแปรเปลี่ยนไปตามกาลสมัยนิยมเป็นการลอยเพื่อบูชาสายน้ำ ขอขมาพระแม่คงคา ลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อในยุคสมัย ในปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกัน จัดงานประเพณียี่เป็งล้านนาเชียงใหม่ ประจำปี ๒๕๕๒ ขึ้นในวันที่ ๑-๓ พฤศจิกายน นี้
นาย
สำหรับกำหนดการทั้ง ๓ วัน ของงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี ๒๕๕๒ จะมีพิธีเปิดงานขึ้นใน วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๘.๐๐ น. ณ ข่วงประตูท่าแพ ท่ามกลางบรรยากาศการแสดงโคมยี่เป็งล้านนา และโคมไฟนานาชาติ การประกวดหนูน้อยยี่เป็ง เทพียี่เป็ง ประกวดขบวนแห่โคมยี่เป็ง และการแสดงสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านล้านนา ณ ถนนคนเดินราชดำเนิน โดยไฮไลต์ของงานจะมีขบวนแห่กระทงเล็ก วันที่ ๒ พฤศจิกายน และขบวนแห่กระทงใหญ่ ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ซึ่งในปีนี้จะมีการประกวดกระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขบวนแห่กระทงใหญ่ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ปีนี้ จะมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนส่งขบวนกระทงใหญ่เข้าร่วมไม่น้อยกว่า ๒๐ ขบวน ซึ่งขบวนแห่จะเริ่มต้นที่ข่วงประตูท่าแพไปสิ้นสุดที่หน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนั้นบริเวณ สองฟากฝั่งแม่น้ำปิงหน้าที่ทำการเทศบาลตลอดทั้ง ๓ วันมีกิจกรรมที่น่าสนใจเน้นการโชว์ศิลปะและวัฒนธรรมของคนเมืองอวดสายตานักท่องเที่ยวตลอดทั้ง ๓ วัน ๓ คืน
ปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ไม่มีที่ไหนเหมาะเท่าเชียงใหม่ในการท่องเที่ยวให้รางวัลกับชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานหนักมาทั้งปี อากาศดี อาหารเหนือที่อร่อย วิถีชีวิตคนล้านนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณียี่เป็งที่ยิ่งใหญ่สืบทอดมายาวนานในแผ่นดินล้านนา เชิญทุกท่านมาสัมผัสในโอกาสนี้
******************